ขั้นตอนการรักษา

เมื่อตัดสินใจรักษาโรคด้วยการฝังเข็มแล้วจะต้องพบกับอะไรบ้าง?

              ผู้ป่วยบางคนนึกในใจว่า คงจะถูกหมอเอาเข็มฝังเข้าไปไว้ในตัวเหมือนกับพิธีไสยศาสตร์ที่เสกตะปูใส่ในท้อง บางคคนอาจาคิดว่า คงจะเอาเข็มฝังไว้ใต้ผิวหนังที่แขน เหมือนกับการฝังยาฮอร์โมนคุมกำเนิดของผู้หญิง?

               นี่เป็นตัวอย่างของความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่มีต่อการฝังเข็ม

               เวชกรรมฝังเข็มเป็นศาสตร์สำหรับรักษาโรคอย่างหนึ่ง จึงต้องมีวิธีการที่เป็นลำดับขั้นตอนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การรักษาจึงจะได้ผล ผู้ป่วยจึงจะหายจากโรค ถ้าหากขั้นตอนการรักษาไม่ครบหรือไม่เป็นไปตามลำดับ ผลการรักษาย่อมจะดีหรือกระทั่งอาจเกิดอันตรายขึ้นได้

               กล่าวสำหรับผู้ป่วยแล้ว การที่ได้ทราบถึงขั้นตอนและวิธีการรักษาล่วงหน้า ย่อมจะช่วยลดความกังวลใจหรือความตื่นเต้นหวาดกลัวลงไปได้ ถ้าหากผู้ป่วยสามารถประสานให้ความร่วมมือกับแพทย์ได้ดี กระบวนการรักษาก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การรักษาย่อมจะปรากฏผลออกมาในทางที่ดีเสมอ

 

ขั้นตอนและวิธีการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม มีดังต่อไปนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 วินิจฉัยโรค

               เมื่อผู้ป่วยมาหา แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อทำการวินิจฉัยอาการและโรคเสียก่อนว่า ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคอะไร มีอาการเจ็บปวดไม่สบายอะไรบ้าง อาการไหนเป็นอาการหลักที่สำคัญ อันไหนเป็นอาการรอง อาการไหนต้องรักษาก่อน อาการไหนค่อยรักษาทีหลัง มีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้างหรือไม่ มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 2 กำหนดแผนการรักษา

               เมื่อวินิจฉัยอาการและโรคแล้ว แพทย์ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการรักษาเช่น จะต้องกำหนดเลือกจุดปักเข็มว่าจะใช้จุดอะไรบ้าง ตำแหน่งตรงไหน ใช้กี่จุด จุดไหนเป็นจุดหลักที่จะต้องปักทุกครั้ง จุดไหนเป็นจุดรองที่จะใช้ปักเป็นบางครั้งเหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบันที่จะต้องเขียนใบสั่งยา (prescription) ว่าจะใช้ยากี่ตัว มีอะไรบ้าง รับประทานครั้งละกี่เม็ด วันละกี่เวลา เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 จัดท่าผู้ป่วย

               แพทย์จะจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมกับการปักเข็ม เช่น ใช้ท่านอนคว่ำเมื่อจะตั้องปักเข็มบริเวณหลังหรือเอว ใช้ท่านอนหงายเมื่อจะต้องปักเข็มบริเวณใบหน้า หน้าท้อง แขนขา ใช้ท่านั่งในกรณีต้องปักเข็มบริเวณต้นคอหรือท้ายทอย และในบางครั้งอาจต้องใช้ท่าตะแคง เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 ปักเข็ม

               แพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดบริเวณผิวหนัง แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ ที่ปราศจากเชื้อ ปักลงไปบนจุดฝังเข็มที่กำนหดเอาไว้ในแผนการรักษา การปักเข็มจะต้องปักผ่านชั้นผิวหนังอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บมากนัก ขณะที่เข็มปักผ่านผิวหนัง ผู้ป่วยอาจจะรุ้สึกเจ็บเล็กน้อยเหมือนถูก “มดกัด” หรือคล้ายกับถูกฉีดยา (แต่จะเจ็บน้อยกว่าฉีดยามาก)


วิธีการปักเข็มแบบจีน แพทย์จะใช้มือจับเข็มปักลงไปตรง ๆ

               ความเจ็บปวดขณะปักเข็มจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับฝีมือของแพทย์ผู้รักษาว่าชำนาญหรือไม่เป็นสำคัญ แพทย์ที่มีความชำนาญมาก ย่อมปักเข็มได้คล่องแคล่วแม่นยำ ความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยก็น้อยลง

               ก่อนฝังเข็ม ผู้ป่วยบางคนอาจขอร้องให้แพทย์ฉีดยาชา เพื่อระงับความเจ็บปวดเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเลย เหตุผลมีอยู่ว่า

               ประการแรก การถูกฉีดยาชาเจ็บปวดมากกว่าการปักเข็มเสียอีก หากต้องปักเข็มหลาย ๆ จุด ผู้ป่วยก็จะเจ็บตัวมากขึ้นโดยเปล่าประโยชน์

               ประการที่สอง ซึ่งสำคัญมากนั่นคือ ยาชาไม่เพียงแต่ยับยั้งความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น แต่มันยังยับยั้งการส่งสัญญารณประสาทอื่น ๆ อีกด้วย รวมทั้งสัญญาณประสาทจากการกระตุ้นด้วยการฝังเข็ม ฤทธิ์รักษาโรคของการฝังเข็มก็จะลดลงหรือไม่มีเลย เพราะปลายประสาทไม่ถูกกระตุ้นนั่นเอง

               ความลึกของเข็มที่ปักลงไปนั้นจะแตกต่างกันไป ในแต่ละตำแหน่งของจุดฝังเข็ม ตัวอย่างเช่น บริเวณใบหน้าจะปักเข็มลึกประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร บริเวณหลังหรือแขนขาอาจปักลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนบริเวณสะโพก อาจปักลึกถึง 10 เซนติเมตรก็มี

               รูปร่างของผู้ป่วยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดความลึกของเข็มที่ปัก คนที่มีรูปร่างอ้วน ชั้นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังจะหนา เข็มที่ปักลงไปก็ต้องลึกมากกว่าคนที่มีรูปร่างผอม

               แต่สิ่งที่แพทย์จะคำนึงถึงมากที่สุดคือ เข็มต้องปักลงไปให้ลึกพอ จนถึงจุดที่จะทำให้เกิด “ความรู้สึกได้ลมปราณ” โดยที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือเสียวบริเวณที่ถูกเข็มปัก แพทย์ผู้ปักเข็มเองก็จะรู้สึกได้ว่าเข็มถูกใยกล้ามเนื้อหนียบรัดไวแน่นหนึบ ๆ ซึ่งตำราแพทย์จีนในสมัยโบราณ บรรยายว่า เป็นความรู้สึกแน่นหนึบ ๆ เหมือน “เบ็ดถูกปลาตอด” บางครั้งความรู้สึกดังกล่าวอาจแผ่เคลื่อนที่ไปตามแนวทางเดินเส้นลมปราณก็ได้

              ผลการรักษาขึ้นอยู่กับว่า ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกได้ลมปราณหรือไม่เป็นอย่างมาก ถ้าปักตรงจุดแล้ว “ได้ลมปราณ” เกิดขึ้น การรักษาจึงจะได้ผลดี ยิ่งรู้สึกว่าลมปราณมีการเคลื่อนที่ออกไปได้ ผลการรักษาก็จะยิ่งดีมากที่สุด

               ถ้าปักเข็มไปแล้วผู้ป่วยไม่รู้สึกอะไรเลย ผู้ปักเข็มรู้สึกโล่ง ๆ เหมือนกับปักเข็มทะลุแผ่นกระดาษ คาดได้เลยว่าผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร

               เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า “ความรู้สึกได้ลมปราณ” เป็นสิ่งบอกให้ทราบว่าเข็มถูกปักลงไปได้ตรงกับบริเวณตัวรัสัญญาณประสาท (receptor) ทำให้เกิดสัญญาณประสาท เพื่อไปกระตุ้นกลไกระบบประสาทและระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

ขั้นตอนที่ 5 กระตุ้นเข็ม

              บางครั้งเมื่อปักเข็มแล้ว ความรู้สึกได้ลมปราณจะไม่เกิดทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นเข็มมช่วยสักครู่หนึ่ง ลมปราณถึงจะเกิดขึ้นได้

              การกระตุ้นเข็มมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ กระตุ้นด้วยการใช้มือหมุนปั่นเข็มไปทางซ้ายขวาหรือปักและดึงเข็มขึ้นลงสลับกัน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการ “แบบฉบับ” ของเวชกรรมฝังเข็มแบบจีนจริง ๆ โดยทั่วไปแพทย์จะทำการกระตุ้นอยู่ประมาณ 1 นาที เป็นระยะ ๆ ทุก 5-10 นาที รวมเวลาที่กระตุ้นเข็มทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที


วิธีการกระตุ้นโดยใช้มือดึงเข็มขึ้นและหมุนปั่น

              ส่วนการกระตุ้นอีกแบบนั้น นิยมใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (stimulator) ต่อสายไฟติดกับเข็ม แล้วเปิดเครื่องกระตุ้น ผู้ป่วยจะรุ้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็มกระตุกเบา ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ การกระตุ้นแบบนี้จะไม่มีความรู้สึกได้ลมปราณชัดเจนเท่ากับแบบแรก เหมาะสำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนมาก และแพทย์ไม่มีเวลามากระตุ้นเข็มให้ผู้ป่วยทีละคนได้

               อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ ไม่เหมาะกับการถูกกระตุ้นแรง แพทย์อาจปักเข็มคาเอาไว้เฉย ๆ หรือกระตุ้นเข็มเบา ๆ เท่านั้น

               สรุปแล้วขั้นตอนนี้จะใช้เวลาปักเข็มคาเอาไว้ประมาณ 20-30 นาที

ขั้นตอนที่ 6 ถอนเข็ม

               เมื่อกระตุ้นเข็ม ครบตามเวลาที่กำหนด แพทย์ก็จะถอนเข็มออกทั้งหมด โดยไม่มีการ “ฝัง” เข็มเอาไว้ในร่างกายแต่อย่างไรเลย (ยกเว้นเข็มบางชนิด อาจติดคาเอาไว้เป็นเวลานานหลายวัน เช่น เข็มใต้ผิวหนัง เข็มหู เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษออกไป) จากนั้นจึงเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาในครั้งนั้น ๆ

              โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะทำวันละ 1 ครั้ง ทุกวันหรือวันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง cแล้วแต่สภาพของโรคและตัวผู้ป่วย โรคบางอย่างเช่น โรคอัมพาตที่มีอาการหนัก อาจต้องฝังเข็มรักษาวันละ 2 ครั้งก็มี การรักษาจะทำติดต่อกันประมาณ 7-10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 5-7 วัน เรกว่าเป็น “ชุดของการรักษา” (course) โรคที่เป็นมาไม่นานอาจรักษาเพียงชุดเดียวก็หายขาด แต่โรคที่เป็นเรื้อรังมานานหรือโรคที่ซักซ้อน อาจต้องรักษาติดต่อกันหลายชุดก็ได้

               หลังการรักษาแต่ละครั้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถกลับไปทำงานหรือเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บางคนอาจมีอาการล้าปวดเมื่อยตามตัวได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นอาการปกติและมักจะหายไปได้เองในวันสองวันต่อมา

               การฝังเข็มไม่มีแสลงกับอาการใด ๆ เลย ผู้มารับการรักษาสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติของแต่ละคน

               วิธีการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นขั้นตอนการรักษาด้วยเข็มที่มีลักษณะเป็นเส้นลวดเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า เข็มเส้นขน (filiform needle) อันเป็นเข็มที่นิยมใช้กันมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีเข็มแบบอื่น ๆ อีก เช่น เข็มหู เข็มผิวหนัง เข็มไฟ ซึ่งจะมีรายละเอียดการรักษาต่างออกไปบ้าง แต่ขั้นตอนโดยหลัก ๆ ก็ยังเป็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นั่นเอง